แชร์ไปได้บุญ

วันจันทร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

ควรหรือไม่ จะตัดสินได้อย่างไร?

     เรื่องที่กำลังเป็นที่นิยมอยู่ในช่วงนี้สำหรับผู้ที่เป็นคอการ์ตูน หรือคอภาพยนตร์คงไม่พ้นเรื่อง Avengers 3 : Infinity War (2018) (อเวนเจอร์: มหาสงครามล้างโลก) ซึ่งมีอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิดของผู้ชมเป็นอย่างมาก 
ภาพยนตร์เรื่อง Avenger 3 : Infinity War (2018)
ขอบคุณภาพจาก http://newstoro.com/4047-2/
      ถึงกับมีข่าวเรื่องการนำตัวละครของฝ่ายมารที่ชื่อธานอส และฮัลค์ ซึ่งเป็นตัวละครในภาพยนตร์ในเรื่องอเวนเจอร์ รวมถึงภาพของจอมมารบู ตัวละครการ์ตูนในเรื่องดราก้อนบอลล์ และหน้ากากหวีดสยอง จากภาพยนตร์สครีม(หวีดสุดขีด) มารวมวาดเป็นพลพรรคฝ่ายมาร ลงไปเป็นส่วนหนึ่งของภาพจิตรกรรมฝาผนัง ซึ่งเป็นเรื่องพุทธประวัติ ตอนตรัสรู้ ซึ่งพระพุทธองค์กำลังผจญมาร 
ภาพข่าว
ขอบคุณภาพจาก https://www.matichon.co.th/news/945330

   มีข้อสงสัยว่า การนำภาพตัวละครในการ์ตูนหรือหนังมาทำเป็นจิตรกรรมฝาผนังในวัด โดยเฉพาะในภาพพุทธประวัติ เป็นสิ่งที่สมควรหรือไม่? เราจะตัดสินอย่างไร?

   เรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่า ภาพจิตรกรรมฝาผนังมีความเป็นมา และสำคัญอย่างไร

   จิตรกรรม (อังกฤษ: painting) เป็นงานศิลปะที่แสดงออกด้วยการวาด ระบายสี และการจัดองค์ประกอบความงามอื่น เพื่อให้เกิดภาพ 2 มิติ ไม่มีความลึกหรือนูนหนา
        จิตรกรรมไทย เป็นวิจิตรศิลป์อย่างหนึ่ง สะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมอันดีงามของชาติ มีคุณค่าทางศิลปะและเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาค้นคว้า มีเรื่องที่เกี่ยวกับศาสนา ประวัติศาสตร์ โบราณคดี ชีวิตความเป็นอยู่ วัฒนธรรมการแต่งกาย ตลอดจนการแสดงการเล่นพื้นเมืองต่าง ๆ ของแต่ละยุคสมัยและสาระอื่น ๆ ที่ประกอบกันเป็นภาพจิตรกรรมไทย (วิกิพีเดีย)
จิตรกรรมฝาผังในพระอุโบสถวัดโพธิ์ชัย (วัดหลวงพ่อพระใส) จ.หนองคาย
ขอบคุณภาพจาก https://pantip.com/topic/32320489
    พระพุทธศาสนา เป็นโครงสร้างที่สำคัญในสังคมไทย โดยมีวัดเป็นศาสนสถาน เป็นที่สำหรับประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เป็นศูนย์รวมในการพบปะ เป็นศูนย์กลางในด้านศาสนา งานประเพณีต่างๆ รวมทั้งการศึกษาเบื้องต้นของเด็กไทย ดังนั้นงานจิตรกรรมจึงเป็นสื่อของการบันทึกเรื่องราวต่างๆ ให้แก่สังคม แทนการสอนด้วยวาจา มีผลต่อการกล่อมเกลาจิตใจของเด็กและผู้ที่เข้ามาชม 

   เราจะพบเห็นจิตรกรรม หรือภาพเขียนฝาผนังที่อยู่ในโบสถ์และวิหาร มักจะแสดงเรื่องราวที่น่าสนใจเล่าเป็นเรื่อง เป็นตอน ๆ  โดยเฉพาะพุทธประวัติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และนิทานชาดก ซึ่งเป็นเรื่องราวในสมัยที่พระพุทธองค์ทรงเสวยชาติเป็นพระโพธิสัตว์ ภาพจิตรกรรมเช่นนี้ ก่อให้เกิดความเข้าใจ เกิดความกระหายใคร่รู้แก่ผู้ชม ทำให้อยากศึกษาค้นคว้าประวัติความเป็นมาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ส่งผลให้ได้เพิ่มพูนคุณธรรมความดี ผ่านคำสอนของพระองค์ นับเป็นคุณค่าในการศึกษาเรื่องราวทางพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง
จิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถ วัดสุวรรณาราม บางกอกน้อย 
เป็นภาพในเรื่องพระเวสสันดรชาดก ตอนชูชกกำลังเข้าเฝ้าพระเวสสันดร 
เพื่อทูลขอพระราชบุตร-พระราชธิดา นำมาเป็นคนใช้ของนางอมิตตดา 
ขอบคุณภาพจาก http://topicstock.pantip.com/camera/topicstock/2006/04/O4266842/O4266842.html
      ดังนั้น การคัดสรรสิ่งต่างๆ เพื่อนำมาอยู่ในตัวโบสถ์หรือในวัด จึงควรเป็นสิ่งที่ควรแก่การสักการะ เทิดทูนไว้ เพราะเป็นแหล่งของพระรัตนตรัย 

บทวิเคราะห์ "ควรหรือไม่ ที่จะนำเอาภาพตัวละครในการ์ตูนหรือภาพยนตร์มารวมกับพุทธประวัติ"

     ธานอส ฮัลค์ จอมมารบู และหน้ากากหวีดสยอง เป็นตัวละครที่ถูกสมมติขึ้นมา เกิดจากจินตนาการของผู้เขียน เป็นเรื่องที่ไม่จริง

    แต่สิ่งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงผจญมารในสมัยที่ตรัสรู้ เป็นเรื่องจริง 

     ถามถึงความเหมาะสมว่า เหมาะสมหรือไม่ที่นำเอาเรื่องไม่จริง หรือเรื่องเล่นๆ มาใส่ในเรื่องจริง 

    การเอาเรื่องเล่น มาใส่ในเรื่องจริง วันข้างหน้า ก็กลายเป็นเรื่องเล่นหมด

    ในพระวินัยปิฎก เล่ม 5 มหาวรรค ภาค 2 หน้า 161 ได้กล่าวถึงวัตถุเป็นกัปปิยะและอกัปปิยะไว้ว่า 

      พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสประทานสำหรับอ้าง 4 ข้อ ดังต่อไปนี้ :-
      1. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดที่เราไม่ได้ห้ามไว้ว่า สิ่งนี้ไม่ควร 
หากสิ่งนั้นเข้ากับสิ่งที่ไม่ควร ขัดกับสิ่งที่ควร สิ่งนั้นไม่ควรแก่เธอทั้งหลาย.
      2. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดที่เราไม่ได้ห้ามไว้ว่า สิ่งนี้ไม่ควร
หากสิ่งนั้นเข้ากับสิ่งที่ควร ขัดกับสิ่งที่ไม่ควร สิ่งนั้นควรแก่เธอทั้งหลาย.
      3. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดที่เราไม่ได้อนุญาตไว้ว่า สิ่งนี้ควร
หากสิ่งนั้นเข้ากับสิ่งที่ไม่ควร ขัดกับสิ่งที่ควร สิ่งนั้นไม่ควรแก่เธอทั้งหลาย.
      4. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดที่เราไม่ได้อนุญาตไว้ว่า สิ่งนี้ควร
หากสิ่งนั้นเข้ากับสิ่งที่ควร ขัดกับสิ่งที่ไม่ควร สิ่งนั้นควรแก่เธอทั้งหลาย. 

    ดังนั้นหลักในการวินิจฉัย พิจารณา วิเคราะห์ว่าภาพนี้ถูกหรือผิด มีตามพระวินัย พระพุทธานุญาตมหาประเทศ 4 ซึ่งเป็นหลักในการพิจารณาสิ่งที่ควรกับสิ่งที่ไม่ควรว่า มีหลักตัดสินดังนี้

1.เอาเรื่องควร ไปเข้ากับเรื่องไม่ควร ก็เป็นเรื่องไม่ควร 
2. เอาเรื่องไม่ควร ไปเข้ากับเรื่องที่ควร ก็เป็นเรื่องไม่ควร
3. เอาเรื่องไม่ควร ไปเข้ากับเรื่องไม่ควร ก็ไม่ควร
4. ต้องเอาเรื่องควร เข้ากับเรื่องควร จึงจะควร
หลักในการพิจารณาความควรหรือไม่ควร
     การเอาเรื่องราวพุทธประวัติ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องนำมาซึ่งความยั่งยืนของพระพุทธศาสนา เป็นที่ตั้งแห่งศรัทธา เรื่องราวที่เกิดนั้นยาวนานอยู่แล้ว เป็นเรื่องราวที่ประกอบไปด้วยอิทธิปาฏิหาริย์มากมาย ซึ่งคนที่พยายามไม่เข้าใจและไม่ลึกซึ้งกับศาสนา ก็จะมองเป็นเรื่องราวที่พร้อมจะไม่ศรัทธาอยู่แล้ว การนำเอาเรื่องที่เป็นละคร ภาพยนตร์ เรื่องล้อเล่นไปใส่รวมกันไว้ คนในยุคนี้ คนที่เกิดในพ.ศ.นี้ คนที่ยังทันก็จะเข้าใจว่า เป็นแค่อารมณ์ศิลปิน ล้อเล่น แต่เมื่อผ่านยุคผ่านสมัยไประยะหนึ่ง จากเรื่องเล่น ก็จะไม่เล่น ก็จะกลายเป็นว่า ทั้งหมดที่อยู่บนผนังเป็นเรื่องเล่นทั้งหมด เป็นเรื่องล้อเล่นไปทั้งหมด ทำให้เกิดความเสื่อมศรัทธาขึ้นมาได้ 

    ฉะนั้นการนำภาพที่เป็นของสูง จึงไม่ควรเอาไปเกลือกกลั้วกับความไม่จริง ความเป็นเท็จ การล้อเล่น ก็จะเข้ากับหลักที่พระพุทธองค์ให้ไว้ว่า 


ของที่ควร ควรค่ากับของที่ควร 
และเป็นที่ตั้งแห่งศรัทธา ทำให้ศาสนายืนยง 


-La Paz-

ที่มา: พระไตรปิฎก มมก.เล่ม 7 หน้า 161
https://www.beartai.com/lifestyle/167295
https://th.wikipedia.org
http://kanchanapisek.or.th/kp6/sub/book/book.php?book=13&chap=4&page=t13-4-infodetail02.html
http://www.thailandsworld.com/th/thailand-thai-art/thai-mural-painting/index.cfm

6 ความคิดเห็น:

  1. การทำจิตรกรรมฝาผนังที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาต้องทำอย่างระมัดระวังในความถูกต้องเหมาะสม เพราะเป็นเรื่องสำคัญที่มีความลุ่มลึกละเอียดอ่อน ไม่สมควรที่จะนำเกณฑ์การพิจารณาแบบปุถุชนมาใช้ในการตัดสินใจเพราะอาจพลาดอย่างมหันต์ได้ ดังเรื่องที่กล่าวมา

    ตอบลบ
  2. จริงค่ะ ไม่ควรนำเรื่องคำสอนหรือศิลปะทางพระพุทธศาสนามาดัดเเปลงทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะจะเป็นเหตุเมื่อเวลาผ่านไปคนจะเข้าใจผิดต่อพระพุทธศาสนา สะสมไปเรื่อย จนถึงจุดเสื่อม ตามความในคัมภีร์มโนรถปุราณี ได้ลำดับความเสื่อมทั้ง 5 ประการ ไว้ดังนี้ เมื่อพระศาสนามีอายุครบ 1,000 ปี หลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพาน จะเกิด ปฏิเวธอันตรธาน คือ กุลบุตรขาดคุณสมบัติที่สามารถเป็นพระอรหันต์ได้ ต่อมาเมื่อครบรอบ 1,000 ปีที่สอง จะเกิด ปฏิปัตติอันตรธาน คือ พระสงฆ์เริ่มละทิ้งพระวินัยและย่อหย่อนในวัตรปฏิบัติและรักษาศีล จนในที่สุดพระวินัยจะสูญ และเมื่อครบรอบ 1,000 ปีที่สาม จะเกิด ปริยัตติอันตรธาน คือ คนเริ่มสูญความรู้และสูญพระไตรปิฎก รวมไปถึงพระคัมภีร์ต่าง ๆ จนหมด ในรอบ 1,000 ปีที่สี่ จะเกิด ลิงคอันตรธาน คือ การสูญสภาพความเป็นสงฆ์ เพราะสงฆ์จะไม่รู้แม้กระทั่งวิธีครองจีวรและถือบาตร และเมื่อพระศาสนามีอายุครบถ้วน 5,000 ปี จะเกิด ธาตุอันตรธาน คือ พระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าในที่ต่างๆ จะมีผู้สักการบูชาน้อยลง จนท้ายสุดไม่มีใครสักการบูชา และนับเป็นการสิ้นสุดพระศาสนาของพระสมณโคดม
    อ้างอิงจากหนังสือ มรดกความทรงจำแห่งเมืองศรีสัชนาลัย-สุโขทัย: ประมวลจารึกสมัยพระยาลิไทย ของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน) หน้า 64

    ตอบลบ
  3. จิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถก็ควรเป็นเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ไม่ใช่อยากเขียนอะไรก็เขียนลงไป

    ตอบลบ
  4. จิตรกรรมฝาผนังคือเรื่องเกี่ยวกับพุทธประวัติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ควรนำสิ่งที่ไม่บังควรมาวาดลงบนฝาผนังโบสถ์ เพราะถ้าเราทำในสิ่งที่ควรเราก็จะได้รับบุญในเรื่องทำให้พระพุทธศาสนาอยู่คู่โลกแบบถูกต้องไม่ผิดเพี้ยนชีวิตเราก็จะมีแต่ความสุขและความเจริญยิ่งๆขึ้นไป แต่ถ้าเรานำสิ่งไม่บังควรมาวาดใส่ฝาผนังเท่ากับเราก่อวิบากให้ตนเองโดยไม่รู้ตัว เพราะอยู่ที่ว่าผู้ที่มาดูจิตรกรรมฝาผนังแล้วเขาตีความดีคุณก็ได้บุญ แต่ถ้าเขามาเห็นแล้วตีความเป็นสิ่งที่ตลกคึกคะนองพูดไม่ดีคุณก็จะได้วิบากไปกับเขาด้วยค่ะ

    ตอบลบ
  5. ไม่ระบุชื่อ18 พฤษภาคม 2561 เวลา 07:24

    เห็นด้วยกับบทความค่ะ

    ตอบลบ