แชร์ไปได้บุญ

วันพฤหัสบดีที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2561

จะทำอย่างไร เมื่อทรัพย์สินถูกอายัด?

สุขที่ใจวันนี้ อยากจะมาให้ความรู้ ความเข้าใจถึงขั้นตอนการอายัด เหตุผล และผลที่เกิดจากการอายัด เมื่ออ่านแล้ว จะเข้าใจกระบวนอายัดของ ปปง. ซึ่งทำให้เราหายสงสัย และไม่วิตกจนเกินไป 

นอกจากนี้ก็ยังเป็นความรู้ทางกฎหมาย ที่รู้ไว้ใช่ว่า...  เราก็จะได้เป็นผู้ที่รอบ รู้กว้าง ประเทืองปัญญาอีกโสตหนึ่ง 



ขอบคุณภาพจาก
http://www.lokwannee.com/web2013/?p=251424
การอายัดทรัพย์สินของคณะกรรมการธุรกรรม ปปง. (สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน)

คณะกรรมการธุรกรรม ปปง. มีอำนาจอายัดทรัพย์สินได้ตาม พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน มาตรา 34 (3) และ มาตรา 48 วรรค 1: “ในการตรวจสอบรายงานและข้อมูลเกี่ยวกับการทำธุรกรรม หากมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า อาจมีการโอน จำหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นทรัพย์สินใดที่เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ให้คณะกรรมการธุรกรรมมีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้นไว้ชั่วคราว มีกำหนดไม่เกินเก้าสิบวัน


เหตุผลของการอายัด คือ คณะกรรมการธุรกรรม ปปง. มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าอาจมีการขาย โอน ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นทรัพย์สินนั้น ถ้าไม่อายัดทรัพย์สินนั้นไว้ หากศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน สำนักงาน ปปง. อาจไม่สามารถติดตามทรัพย์สินนั้นกลับคืนมาได้


กรณีที่จะอายัดทรัพย์สินได้ จะต้องมีเหตุดังนี้


1. ทรัพย์สินนั้น เป็นทรัพย์สินที่ต้องสงสัยว่าอาจเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดฐานฟอกเงิน


2. มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า จะมีการโอน จำหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นทรัพย์สินนั้น


ผลที่เกิดขึ้นจากการอายัดทรัพย์สิน


1. เจ้าของทรัพย์สินไม่สามารถขาย หรือโอน หรือโยกย้ายทรัพย์สินนั้นได้


2. ดอกผลที่เกิดขึ้นระหว่างเวลาที่อายัดทรัพย์สิน ก็ถูกอายัดด้วยเช่นกัน


3. กรรมสิทธิ์ยังคงเป็นของเจ้าของทรัพย์สินนั้น


คำถาม : 
เจ้าของทรัพย์สินจะทำอย่างไรได้บ้าง ?


คำตอบ :

1. ขอให้มีการเพิกถอนคำสั่งอายัดทรัพย์สินนั้น ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งหรือทราบคำสั่ง

2. ขอใช้ทรัพย์สินนั้นในระหว่างที่ถูกอายัด


คำถาม : เจ้าหน้าที่จะนำทรัพย์สินนั้นไปขายทอดตลาดได้หรือไม่ ?


คำตอบ คือ ไม่ได้ เพราะจะต้องมี “คำพิพากษา หรือคำสั่งศาลถึงที่สุด” ให้ยึดทรัพย์สินนั้นก่อน


คำพิพากษา หรือคำสั่งศาลถึงที่สุด หมายถึง คำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลในประเด็นแห่งคดีที่ฟ้องต่อศาล ซึ่งเป็นคำตัดสินสุดท้าย ไม่มีผู้ใดร้องเรียนได้ ตัวอย่างเช่น คำพิพากษาของศาลฎีกา, คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ที่คู่ความฝ่ายโจทก์และหรือฝ่ายจำเลยไม่มีการยื่นฎีกา หรือไม่ยื่นฎีกาภายในเวลาที่กำหนด, คำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่คู่ความฝ่ายโจทก์และหรือฝ่ายจำเลยไม่มีการยื่นอุทธรณ์ หรือไม่ยื่นอุทธรณ์ภายในเวลาที่กำหนด


คำถาม : เจ้าหน้าที่จะให้ผู้อื่นมาใช้ทรัพย์สินนั้นได้หรือไม่ ?


คำตอบ คือ ไม่ได้ เนื่องจากผลของการอายัด จำกัดสิทธิ์เจ้าของทรัพย์สินไม่ให้ขาย โอน ยักย้ายทรัพย์สินนั้น แต่ไม่กระทบต่อกรรมสิทธิ์ของเจ้าของทรัพย์สิน


ข้อสังเกต : ทรัพย์สินที่ถูกอายัด ยังถือไม่ได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด (ฐานฟอกเงิน) เพียงแต่ต้องสงสัยว่า อาจเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ในขณะอายัดทรัพย์สินศาลยังไม่มีคำสั่งให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดิน และหากกระบวนการยุติธรรมได้ดำเนินไปจนถึงที่สุดแล้ว ปรากฏว่า “เจ้าของทรัพย์สินไม่ได้กระทำความผิด” และ หรือ “ทรัพย์สินนั้นไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด” คำสั่งอายัดทรัพย์สินดังกล่าวก็ต้องถูกเพิกถอนไป


เมื่อกระบวนการยุติธรรมยังดำเนินไปไม่ถึงที่สุด กล่าวคือ ยังไม่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลถึงที่สุดว่า “ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยกระทำความผิด” ต้องถือว่า “ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยยังเป็นผู้บริสุทธิ์” 


ดังนั้น สิ่งที่ดีที่สุดหากทรัพย์สินถูกอายัด และทุกอย่างยังอยู่ในกระบวนการยุติธรรม เราควรจะอดทน ข่มใจ และรออย่างใจเย็น ให้ผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องช่วยจัดการและดำเนินการต่อไปจนกว่าความจริงจะปรากฏ แม้ทรัพย์สินนั้นเราจะมีส่วนในการเป็นเจ้าของก็ตาม 

ทุกสถานการณ์ ทำใจให้เป็นกลางๆ
จะทำให้เรามองเห็นได้ชัดขึ้น


ใจคนเรา คิดได้ทีละเรื่อง
ถ้าไม่คิดเรื่องนี้ ก็ไปคิดเรื่องโน้น
ให้ใจเราคิดในเรื่องที่ทำให้ใจมีความสุขดีกว่า